สพป.ตรัง เขต 2 พร้อมภาคีเครือข่าย เดินหน้า “OBEC Zero Dropout” พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง

วันที่ 27 พ.ย. 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดุสิต ลัคนาศิโรรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 (สพป.ตรัง เขต 2) พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูในพื้นที่อำเภอห้วยยอด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอห้วยยอด (สกร.อำเภอห้วยยอด) สาธารณสุขอำเภอห้วยยอด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในพื้นที่อำเภอห้วยยอด (รพ.สต.) และผู้นำท้องที่ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในสังกัด ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านวังลำ โรงเรียนบ้านเขาพรุเสม็ด โรงเรียนบ้านควนเลียบ และโรงเรียนบ้านเขากอบ พร้อมพบปะพูดคุยกับผู้ปกครอง มอบเครื่องอุปโภคและบริโภคเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และสอบถามความเป็นอยู่ ความต้องการช่วยเหลือจากเด็กนักเรียนและครอบครัว

สภาพครอบครัวของนักเรียนทั้งหมดมีรายได้น้อย พ่อแม่มีการหย่าร้าง อาศัยอยู่กับตา ยาย มีบ้านพักอาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน ส่งผลให้ขาดเรียนบ่อย บางครอบครัวบ้านชำรุดทรุดโทรม บางครอบครัวไม่มีบ้านเป็นของตนเองอาศัยที่ดินของญาติในการสร้างที่พักพิง หรือแม้กระทั่งต้องอาศัยห้องสุขาที่บ้านญาติในการขับถ่าย และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการให้นักเรียนมีทุนการศึกษา เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอนจากสวนยางพารา และรับจ้างทั่วไป

ทั้งนี้สพป.ตรัง เขต 2 ดำเนินขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” และของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ป้องกันและลดปัญหาการออกกลางคันของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โครงการพาน้องกลับมาเรียน) อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบาย “OBEC Zero Dropout” หรือ “สพฐ. ไม่มีเด็กตกหล่นหรือออกกลางคันซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คือ “Thailand Zero Dropout” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษารวมทั้งเพื่อติดตาม ค้นหาและช่วยเหลือเด็กออกกลางคัน เด็กตกหล่น ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการศึกษาหรือการฝึกทักษะอาชีพ ตามความต้องการจำเป็นของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในทุกมิติ โดยปี 2567 สพป.ตรัง เขต 2 มีกำหนดลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน (โครงการพาน้องกลับมาเรียน) ใน 5 อำเภอ จำนวน 28 ราย

ถนอมศักดิ์  หนูนุ่ /จ.ตรัง