“นพ.เอก” ตั้งคำถามเดือด อ้างชื่อราชวิทยาลัยแพทย์ต้านบุหรี่ไฟฟ้า ระดมส่งไลน์หวังกดดันสภาฯ ไม่เห็นชอบการควบคุมให้ถูกกฎหมาย

‘หมอเอก’ อดีต ส.ส. เชียงรายโพสต์ข้อความผ่านบัญชี Facebook ส่วนตัว แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยระบุราชวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืน “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” อย่างแข็งขัน พร้อมตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการเดิมๆ ที่ใช้อยู่

“ไม่มีใครอยากเอาบุหรี่ไฟฟ้าหรอกครับ… แต่ทั้งๆ ที่แบน ทั้งรณรงค์ และปราบปราม บุหรี่ไฟฟ้าก็ยังเกลื่อนเมือง” นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดเชียงราย และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการใช้ทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมากในความพยายามดังกล่าว แต่ผลลัพธ์กลับไม่สามารถลดการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมได้

นอกจากนี้ นพ.เอก ยังสะท้อนว่าการรณรงค์ในปัจจุบันดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปที่การต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น แต่กลับละเลยการควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยรวม ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนควบคุมยาสูบแห่งชาติ

นพ.เอกยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการอ้างมติของราชวิทยาลัยต่างๆ ว่าอาจไม่ได้มีการประชุมหารือหรือรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกอย่างครบถ้วน พร้อมเสนอว่า ควรใช้โอกาสนี้ในการออกข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชัดเจนเพื่อควบคุมยาสูบอย่างเป็นรูปธรรม และเรียกร้องให้ใช้แนวคิดใหม่ ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน โดยระบุว่า “หากทำแบบเดิมๆ มา 20-30 ปี แล้วทำไม่สำเร็จ ทำไมถึงไม่ใช้แนวคิดหรือวิธีการใหม่ๆ บ้างล่ะครับ จะทำแบบเดิมเพื่อหวังผลลัพธ์เปลี่ยนกันอย่างนั้นหรือ?”

ทั้งนี้ นพ.เอก เป็นคนหนึ่งที่ติดตามประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการควบคุมที่เหมาะสม ป้องกันสุขภาพผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันเยาวชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่าย และเคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคอีวาลี่ ซึ่งกรมควบคุมโรค สหรัฐอเมริกายืนยันว่าเกิดจากการการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานโดยการลักลอบนำวิตามินอีไปผสมกับน้ำยานิโคตินเหลว

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวพบว่ามีการส่งข้อความผ่านไลน์กลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์และไลน์กลุ่มอื่นๆ จำนวนมาก เพื่อรวบรวมรายชื่อไปยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคัดค้านการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายโดยอ้างเหตุผลเรื่องเด็กและเยาวชน โดยในข้อความยังระบุว่า “แม้ดูแล้วสู้ไปก็แพ้นักการเมือง แต่เราจะสู้จนหยดสุดท้าย” ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผู้คัดค้านอาจทราบผลการพิจารณาของคณะกมธ วิสามัญ บุหรี่ไฟฟ้า ที่ได้พิจารณาข้อมูลทุกด้านทั้งมิติกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ จนนำไปสู่ความพยายามในการกดดัน กมธ และสภาฯ ในโค้งสุดท้ายไม่ให้รับรองรายงานฉบับนี้ โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการสาธารณสุขในสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อนก็เคยมีความเห็นสมควรให้นำบุหรี่ไฟฟ้ามาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกับ 80-90 ประเทศทั่วโลกเนื่องจากเห็นความล้มเหลวของการแบนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ไม่สามารถควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้จริง