ชาวบ้านรวมกลุ่มทอผ้าไหม ย้อมด้วยสีธรรมชาติและหมักโคลนแบบดั่งเดิม สืบทอดภูมิปัญญาโบราณ การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ

วันที่ 18 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำรายงานว่า ที่หมู่บ้านสุขสบาย หมู่ที่ 20 ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์  ชาวบ้านได้รวมตัวกันหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มาช่วยมัดหมี่และจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้สำหรับการย้อมสีผ้าไหม ซึ่งของที่ใช้ในการย้อมสีผ้าไหมนั้นเป็นวัสดุจากธรรมชาติล้วนๆ และเป็นของที่หาได้ในป่าชุมชนใกล้หมู่บ้าน อาทิเช่น แก่นขนุน ใบยูคาฯ เปลือกสมอ ลูกสมอ ขมิ้น รากยอ เปลือกต้นมะพูด หมากสง เปลือกไม้นมแมว รากและใบของต้นคราม เป็นต้น

 

 

 

 

การย้อมสีธรรมชาติและหมักโคลน เป็นกระบวนการที่มีมาแต่โบราณ การหมักโคลนทำให้สีย้อมติดนานขึ้น และทำให้ผ้ามีความนุ่มขึ้น แต่จะทำให้สีเข้มขึ้น  โดยสีที่ได้มีดังนี้ – เปลือกมะม่วง เมื่อน้ำมาย้อม จะได้เส้นใยสีเหลือง เมื่อหมักโคลน จะได้สีเขียว – ใบมะม่วง เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีครีม เมื่อหมักโคลน จะได้เส้นใยสีเขียวอ่อน – เปลือกไคร้นุ่น เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีชมพู เมื่อหมักโคลน จะได้สีชมพูอมม่วงจนถึงสีกะปิ – ผลมะเกลือ เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีเทา เมื่อหมักหมักโคลน จะได้สีเทาที่เข้มขึ้น – เปลือกนนทรีป่า (ต้นอะลาง) เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีน้ำตาลเเดง เมื่อหมักโคลน จะได้สีเทา – ส้มลม เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีชมพูตุ่น เมื่อหมักโคลน จะได้สีกะปิ งานทำธรรมชาตินี้ไม่ได้มีความงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังสลับซับซ้อนในกระบวนการผลิต โดยการย้อมสีทุกครั้งไม่เท่ากัน ซึ่งในแต่ละผืนจะใช้เวลาย้อมถึง 2 วัน บอกได้เลยว่าเป็นงานที่ท้าทายและมีความพยายามมากมาย การมัดหมี่บนหัวมัดนั้นก็ต้องใช้ความพยายามมากมาย กว่าจะได้สีที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก

 

นางสุจิตรา โนนคำ หัวหน้ากลุ่มทอผ้าไหมบ้านสุขสบาย เผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านสุขสบายมีอาชีพทำนาและเมื่อเสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็จะมารวมกลุ่มกันเพื่อทอผ้าไหม ตอนนี้มีสมาชิกจำนวน 32 คน ทุกวันประมาณ 9 โมงเช้า สมาชิกก็จะมารวมกลุ่มกัน และแบ่งหน้าที่กันทำ ใครจะออกไปหาเก็บวัสดุธรรมชาติในป่าชุมชน ใครจะเป็นคนมัดหมี่ ใครจะเป็นคนย้อมคราม และทำการหมักโคลน มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน

 

นางสุจิตรา กล่าวต่อไปว่า ผ้าไหมของกลุ่มมีลวดลายเฉพาะตัวก็คือ ลายเกล็ดพยานาค ซึ่งมีลวดลายและสีสันสวยงาม อีกทั้งเคยได้รับชนะเลิศ ประเภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าดีเด่น จากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทผลิตภัณฑ์เด่นสาขาผ้าไหม จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 จากจังหวัดสุรินทร์  และรางวัลต่างๆอีกหลายรางวัล ซึ่งเป็นการการันตีว่า ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติของชาวบ้านสุขสบาย กลายเป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนสวมใส่ผ้าไหมและกลายเป็นที่ต้องการของตลาดผ้าไหมเพิ่มมากขึ้น

 

 

 

นายสมบัติ เพ็ชรกล้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระเทียม กล่าวว่า ตำบลกระเทียมมีประชาชนอยู่3กลุ่มใหญ่ๆ คือ เขมร  ลาว กวย ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีเอกลักษณะและวัฒนธรรมการแต่งกายที่คล้ายกัน แต่มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะแต่งกายด้วยผ้าไหมที่มีลวดลายและสีสันที่สวยงาม  ที่ผ่านมานั้นอบต.กระเทียม ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มทอผ้าไหมมาโดยตลอด ทั้งการจัดหาครูมาสอนการออกแบบลายใหม่ๆ การส่งเสริมการจำหน่ายผ่านออนไลน์ และสนับสนุนอุปกรณ์การทอผ้าไหม

 

นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของคนที่นิยมสวมใส่ผ้าไหม ซึ่งมีลวดลายสวยงามโดดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะผ้าไหมของพี่น้องชาวตำบลกระเทียม ที่ใช้วัสดุและย้อมสีธรรมชาติ มีลักษณะโดดเด่น สีนุ่มนวล ไม่ฉูดฉาด เป็นที่ต้องการของตลาดผ้าไหม ซึ่งในปัจจุบันนี้การย้อมสีเส้นไหมจากธรรมชาติกำลังเป็นที่นิยมและต้องการ เพราะสีธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และน้ำทิ้งจากกระบวนการย้อมสี ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเข้าไปชมวิธีการทอผ้าไหมด้วยมือ และขั้นตอนการการย้อมสีผ้าไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ การหมักโคลน หรืออยากซื้อผ้าไหมสวยๆจากชาวบ้านโดยตรงสามารถติดต่อได้ที่ นายสหภาพ บุญครอง หัวหน้าสำนักปลัด อบต.กระเทียม ซึ่งจะอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลพร้อมทั้งดูแลท่านเป็นอย่างดี.

 

 

 

ภาพ/ข่าว พูนสิน ยั่งยืน ผู้สื่อข่าว จ.สุรินทร์