กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจยึดจับกุม สินค้าต้องห้ามนำเข้า ‘บุหรี่ไฟฟ้า 47,495 ชิ้น’ มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท

เวลา14.00 น. (วันที่ 24 ธันวาคม 2567) ที่สำนักงานศูนย์X-RAYขาเข้าสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายดิเรก คชารักษ์ รองอธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วยพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวุฒิ เร่งประดุงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกัน แถลงข่าวการจับกุม สินค้าต้องห้ามนำเข้า ‘บุหรี่ไฟฟ้า 47,495 ชิ้น’ มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท โดยเปิดเผยว่าตามนโยบายของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรประเภทบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้สั่งการให้กรมศุลกากรบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปรามสินค้าประเภทบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งรัดปราบปรามสินค้าประเภทบุหรี่ไฟฟ้าในการนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักร นายดิเรก คชารักษ์ รองอธิบดี จึงสั่งการให้สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการมาตรการป้องกันปราบปรามของผิดกฎหมายเพื่อปกป้องสังคม นายวุฒิ เร่งประดุงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สั่งการให้ยกระดับในการบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นายสงขลา โซะเหม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร และ นายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรปฏิบัติงานเข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบ-หลีกเลี่ยงศุลกากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สทบ.

และ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม สคศ., ฝ่ายบริการศุลกากรที่ 1 สบศ.1, กองสืบสวนและปราบปราม ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม 3 สปป.1 กสป. ปฏิบัติการร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยกรมศุลกากรได้รับการประสานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าอาจมีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซุกซ่อนปะปนมากับสินค้าอื่น ซึ่งตู้สินค้าดังกล่าวมีเมืองกำเนิดประเทศจีน จึงได้ทำการอายัดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด จากการตรวจสอบพบ “บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง จำนวนกว่า 47,495 ชิ้น” มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของดังกล่าวเป็นของกลางส่งสำนักงานศุลกากรท่าเรือหลมฉบัง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 ประกอบมาตรา 252 และมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

โดยตลอดปี 2567 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับของต้องห้ามเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว 9 ราย รวมจำนวนของกลาง 25,690 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางกว่า 11.9 ล้านบาท

ชำนาญ ใจเอื้อ ศรีราชา/ชลบุรี