กรมศุลกากรจับกุม “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” นำเข้าทางท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักกว่า 256 ตัน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 ม.ค. 68 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร นายจักกฤช อุเทนสุต รองอธิบดีกรมศุลกากร ร่วมกันแถลงข่าว กรมศุลกากรจับกุม “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” นำเข้าทางท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักกว่า 256 ตัน” ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้สั่งการให้กรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรจึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งรัดปราบปรามสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในการนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักร

จากการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด พบว่าอาจมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 3 และ 6 มกราคม 2568 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงทำการตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พบว่า มีการแสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็น “เศษโลหะและโลหะเก่าใช้แล้ว”เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการอายัดตู้สินค้าดังกล่าวเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด ผลการตรวจสอบ พบว่าสินค้ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น จำนวน 9 ตู้ และฮ่องกง จำนวน 1 ตู้ ภายในพบ “เศษชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ มีสภาพเป็นเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณกว่า 256,320 กิโลกรัม” ซึ่งสินค้าดังกล่าว ถือเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้วันที่ 15 กันยายน 2563 และถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการนำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดนกรณีเป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 18 วรรคสอง มาตรา 23 และมาตรา 73 ประกอบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 บัญชีที่ 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ ลำดับที่ 2.18 ชิ้น ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ และอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน

สำหรับสถิติการจับกุมของที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 14 มกราคม 2568) ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 19 คดี น้ำหนัก 256,643 กิโลกรัม เศษพลาสติก จำนวน 6 คดี น้ำหนัก 322,980 กิโลกรัม รวมทั้งหมด 25 คดี น้ำหนัก 579,623 กิโลกรัม สำหรับในปีงบประมาณ 2567 จับกุมขยะเทศบาล จำนวน 9 คดี น้ำหนัก 1,259,942 กิโลกรัม
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากรยังเฝ้าระวังสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนอื่น ๆ ด้วย เช่น เศษพลาสติก ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568