ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ zoom meeting จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

วันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ zoom meeting จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ถนนอู่ทองนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำเรื่องการแจ้งเตือนประชาชนถึงภัยพิบัติฉุกเฉิน รวมถึงเส้นทางการเดินทาง การปิดการเดินรถระบบรางทั้งหมด โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาโดยเร็ว
โดยนายกฯ ได้สั่งงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดังนี้
กระทรวงดีอี ปภ. และ กสทช. – ให้ ปภ. ส่งหนังสือและข้อความ SMS ที่จะ broadcast ไปให้ กสทช. ในทันที (โดยไม่ต้องรอการประชุม หรือคำสั่งการจากนายกรัฐมนตรี) ให้ กสทช. เตรียมการรองรับสำหรับส่งข้อความ SMS ยามฉุกเฉิน และให้ ปภ. เร่งพัฒนาระบบ cell broadcast ที่สามารถส่งข้อความฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในไทยได้ทันที ภายในเวลา 3 เดือน
กรุงเทพมหานคร ให้เร่งค้นหาผู้สูญหาย และหามาตรการควบคุมการออกใบอนุญาตอาคารสูง กำหนดมาตรฐาน ทบทวนผังเมือง และกฎหมายอาคารสูง ตรวจสอบอาคารสูงเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหว รวมทั้งร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา ตรวจสอบโบราณสถานต่างๆ ว่ามีผลกระทบหรือไม่
กระทรวงกลาโหม – จัดหายุทโธปกรณ์ในการบริการประชาชน พร้อมเตรียมกำลังพล ช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ
กระทรวงสาธารณสุข – เตรียมแพทย์สำรอง และเตียงเสริมให้เพียงพอต่อความต้องการ และเยียวยาด้านจิตใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว
กระทรวงมหาดไทย – ปภ. ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแจ้งเตือน ถ้าหากไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ต้องมีการจัดการที่เด็ดขาดต่อไป รวมถึงเงินเยียวยาต้องถึงมืออย่างรวดเร็ว
กระทรวงคมนาคม – ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสูง ให้กรมโยธาธิการ สภาวิศวกรรมสถานในการตรวจสอบที่เข้มงวด

กระทรวงท่องเที่ยว – ร่วมมือกับทางสภาวิศวกรรม และกรมโยธาธิการ ตรวจสอบโรงแรมขนาดสูง เพื่อสร้างความมั่นให้กับนักท่องเที่ยว
ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ว่าฯ ได้สั่งการให้ ส่วนราชการในพื้นที่ สำรวจความเสียหายในพื้นที่ของตนเอง ว่ามีทรัพย์สินอาคาร ที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ และได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่รองรับผู้ป่วย ในกรณีที่มีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นและมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ให้นายอำเภอทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างต่อเนื่องถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุ และให้สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นในบ้านเรือนของตนเอง ในเบื้องต้นหากพบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ให้แจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สี่อข่าวการประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา