เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) จากการได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของครูและครอบครัว ได้มอบหมายหาแนวทางที่ดีที่สุดในการให้เกิดคุณภาพชีวืตของครูและครอบครัว จึงได้มีการประชุมหารือร่วมกับนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) พร้อมด้วย นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ สสท. รวมถึงผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 11 สหกรณ์ นางสาวศิริรัตน์ สุภาพทรง รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและประเมินคุณภาพทางการศึกษา สพฐ. นายยงยุทธ สงพะโยม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพมงคลรังษี จังหวัดกาญจนบุรี นายเจษฎา ศรีนวล ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง และคณะทำงานสำนักขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา (สนค.) สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสีฟ้า อาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูร่วมกันโดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเปราะบาง กลุ่มข้าราชการบำนาญ และกลุ่มข้าราชการประจำ เพื่อให้ข้าราชการครูมีคุณภาพชีวิต และสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น โดยกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ให้ความเห็นว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกลุ่มเปราะบาง เพื่อจะเป็นการรวมหนี้มาไว้ที่สหกรณ์สามารถดำเนินการได้และพร้อมดำเนินการเพื่อสมาชิกครู ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีร้อยละ 6 และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.75 นั้น บางสหกรณ์ปลายปีผู้กู้จะได้รับเงินเฉลี่ยคืน ดอกเบี้ยที่กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยประมาณ 10-15% ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์กับครูด้วยเช่นกัน แล้วแต่ผลกำไรของสหกรณ์ นอกจากนี้สหกรณ์ออมทรัพย์พร้อมลดดอกเบี้ยลง ถ้ามีหาเงินทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าร้อยละ 3 เพื่อมาชดเชยและทำให้สหกรณ์สามารถช่วยสมาชิกกลุ่มเปราะบางนี้ได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดประชุมในหัวข้อ “ปัญหาหนี้สินข้าราชการที่อยากแก้ไข” ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) การประชุมที่ดำเนินการโดยสันนิบาตสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานแก้ปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์ร่วมกัน เพื่อให้การช่วยเหลือสมาชิก กลุ่มเดิม (กลุ่มเปราะบาง) กลุ่มบำนาญ และกลุ่มใหม่ (ข้าราชการบรรจุใหม่) และ 2) การประชุมที่ดำเนินการโดย สพฐ. กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และประธานสหกรณ์ เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานในการช่วยเหลือสมาชิก กลุ่มเดิม (กลุ่มเปราะบาง) กลุ่มบำนาญ และกลุ่มใหม่ (ข้าราชการบรรจุใหม่) รวมทั้งการส่งเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับข้าราชการบรรจุใหม่ เพื่อให้สามารถวางแผนทางการเงิน มีภูมิคุ้มกันทางการเงินต่อไป