เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 2 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ คณะทำงานของรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าทีมตรวจสุดซอย เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม DSI ได้เข้าตรวจสอบบริษัทชินเคอหยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม WHA ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อยไม่ผ่านมาตรฐาน แล้วนำไปก่อสร้างอาคาร สตง. โดยเจ้าหน้าที่ได้พร้อมกันที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม WHA ได้เรียกตรวจสอบเอกสารของบริษัทฯ มีการนำบิลค่าไฟ มาตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบว่าในช่วงที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่ และช่วงที่บริษัทถูกให้ระงับการดำเนินกิจการ มีจำนวนค่าไฟที่แตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในช่วงเดือน พ.ย.67 ช่วงที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่นั้น มีค่าไฟอยู่ที่ 134 ล้านบาท ส่วนช่วงเดือน ธ.ค.67 หลังบริษัทได้มีการสั่งระงับกิจการในวันที่ 19 ธ.ค.67 ค่าไฟจะลดลงเหลืออยู่ที่ 73 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2568 เดือน ม.ค.68 ซึ่งเป็นเดือนที่มีการระงับการผลิตตลอดทั้งเดือนจำนวนค่าไฟได้ลดลงเหลืออยู่ จำนวน 1.2 ล้านบาท และในเดือน ก.พ.68 ซึ่งเป็นเดือนที่ได้มีการระงับการผลิตเช่นเดียวกัน ค่าไฟได้ลดลงมาเหลือที่ 6.4 แสนบาท โดยบิลค่าไฟดังกล่าวนี้จะสามารถเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าหลังจากมีคำสั่งให้มีการระงับการผลิตเหล็ก ทางบริษัทมีจำนวนตัวเลขในการจ่ายค่าไฟเหลือเดือนละเท่าไหร่ ต่อมาทางทีมงานชุดตรวจสอบได้เดินทางไปยังบริษัทชินเคอหยวน สตีล จำกัด โดยก่อนที่จะเดินทางเข้าไปตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับทางตัวแทนบริษัท เพื่อขอใช้อำนาจเข้าไปตรวจสอบเหล็กที่ได้มีการอายัดเอาไว้ ว่าได้มีการแกะหรือลักลอบนำไปจำหน่ายหรือไม่ และจะขอตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็กว่าได้มีการเปิดใช้งานหลังมีคำสั่งให้หยุดผลิตหรือไม่ นอกจากนี้ทางชุดตรวจสอบ ยังขอเอกสารบิลค่าไฟในเดือน มี.ค.68 กับทางบริษัท เพื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนค่าไฟที่ได้มาก่อนหน้านี้ ว่ามีตัวเลขใกล้เคียงกันกับช่วงที่บริษัทได้มีการระงับการผลิตหรือไม่ และขอเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง ว่าที่ได้มีการส่งไปขาย สตง. เป็นเหล็กล็อตไหน และมีจำนวนมากเท่าไหร่ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทยินดีที่จะให้ความร่วมมือ และให้สื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบในโรงงานด้วย ส่วนเรื่องเอกสารการซื้อขายเหล็ก จะขอรวบรวมส่งภายใน 7 วัน เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้มีการขายตรงกับทาง สตง. แต่เป็นการขายผ่านเอเจนซี่ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางอีกทอดหนึ่ง
ต่อมาทางคณะชุดตรวจสอบ และสื่อมวลชน ได้เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บเหล็กเส้นที่ได้มีการอายัดเอาไว้ ทางผู้แทนบริษัทยืนยันว่าตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการสั่งอายัดไม่ให้นำเหล็กเส้นเหล่านี้ออกจำหน่าย ทางบริษัทก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งกับเหล็กจำนวนดังกล่าวเลย และขอยืนยันว่าเหล็กทั้งหมดที่ได้มีการอายัดเอาไว้นั้นยังอยู่ครบทุกเส้น
จากนั้นทางคณะชุดสรวจสอบ ได้ขอตัดตัวอย่างเหล็กที่ได้มีการอายัดเอาไว้ โดยเฉพาะเหล็กเส้นข้ออ้อยที่มีขนาด 32 มิลลิเมตร ที่ตรงกับเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง. ไปตรวจสอบอีกครั้งที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แม้ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเก็บตัวอย่างเหล็กชนิดดังกล่าวไปตรวจกับสถาบันเหล็กฯ มาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งผลก็ออกมาว่าไม่ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง
ซึ่งระหว่างที่ทางคณะทีมตรวจสอบ ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนของบริษัท ก็เกิดการโต้เถียงกันเล็กน้อย เนื่องจากทางตัวแทนบริษัทขอให้ทางเจ้าหน้าที่ นำตัวอย่างเหล็กที่ถูกอายัดเอาไว้ ไปส่งตรวจกับสถาบันยานยนต์ควบคู่กับสถาบันเหล็กกล้าฯ พร้อมนำเอกสารมาโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนว่ามาตรฐานสารโบรอนของทั้ง 2 สถาบันมีความแตกต่างกัน โดยของสถาบันเหล็กกล้าฯ มีมาตรฐานอยู่ที่ 0.0009 เปอร์เซ็นต์ ถึง 0.0025 เปอร์เซ็นต์ ส่วนของสถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนอยู่ที่ 0.0004 เปอร์เซ็นต์ ถึง 0.0066 เปอร์เซ็นต์ เพราะหากดูค่ามาตรฐานของทั้ง 2 สถาบันแล้ว สถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนที่ดูต่ำกว่า
แม้ทางคณะทีมตรวจสอบ จะได้มีการอธิบายต่อหน้าว่าช่วงที่บริษัทได้มีการไปขอมาตรฐาน มอก. ก็ได้นำเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แต่ทำไมถึงไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของสถาบันดังกล่าว แต่ถ้าหากทางบริษัทจะอยากให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบทั้ง 2 สถาบัน ทางทำงานก็ไม่ติดขัด เพราะจะได้ให้ความเป็นธรรมกับทางบริษัทด้วย พร้อมกันนี้ทางคณะทีมตรวจสอบ ยังได้ชี้แจงด้วยว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการนำตัวอย่างเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ซึ่งผลก็ได้ต่ำกว่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตามทางตัวแทนบริษัทก็ชี้แจงเพิ่มเติมว่าทางบริษัทไม่ได้ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบจากสถาบันเหล็กกล้าฯ ก่อนหน้านี้ แต่ที่อยากให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบทั้ง 2 สถาบัน เพราะทั้ง 2 สถาบัน มีมาตรฐานค่าโบรอนที่ต่างกัน ซึ่งถ้าหากผลออกมาจากทั้ง 2 สถาบันจะต่ำกว่ามาตรฐานทั้งคู่ ทางบริษัทก็ยอมรับได้
ผู้สื่อข่าวก็ได้มีการสอบถามกับทางตัวแทนบริษัทชินเคอหยวน ว่าทางบริษัทมีความกังวลใจหรือไม่หลังทางได้เข้ามาตรวจสอบในวันนี้ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีความกังวลอะไรเลย เนื่องจากทางบริษัทได้แสดงความบริสุทธิ์ใจให้คณะและสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบ พร้อมกับขอยืนยันว่าตั้งแต่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการสั่งระงับการการผลิต และอายัดเหล็กที่ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ทางบริษัทก็ได้มีการระงับการผลิตเหล็กตั้งแต่วันที่ได้มีการออกคำสั่ง ส่วนเหล็กที่ถูกอายัดไว้ในโกดัง ทางบริษัทไม่เคยเข้าไปยุ่งและไม่เคยเข้าไปแตะต้องอะไรเลย
ส่วนประเด็นที่มีคนเห็นรถบรรทุกฝุ่นแดงซึ่งเป็นส่วนผสมของการผลิตเหล็กเข้าออกที่โรงงาน ทางบริษัทขอชี้แจงเรื่องนี้ว่า ฝุ่นแดงที่มีการบรรทุกเข้าออกโรงงาน เป็นฝุ่นแดงที่เก็บไว้ตั้งแต่เปิดโรงงานในช่วงปี 2554 ซึ่งไม่ได้นำออกมาผลิตเหล็กแต่อย่างใด เพราะทางบริษัทเคารพกฎของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้มีการระงับการผลิต แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้มีการออกคำสั่งว่าห้ามให้มีการขนย้ายฝุ่นแดงเข้าออกโรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ก็ถือว่าตัวของบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด
ส่วนเหล็กที่ได้มีการจำหน่ายออกไปแล้วไปสร้างอาคาร สตง. ทางบริษัทชี้แจงว่า เพิ่งทราบจากข่าวว่าเหล็กที่ได้นำไปสร้างอาคาร สตง. เป็นเหล็กของบริษัทชินเคอหยวน เพราะก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่ทราบเลยว่าหลังได้มีการจำหน่ายไปให้กับเอเจนซี่ ซึ่งถือว่าเป็นพ่อค้าคนกลาง จากนั้นทางพ่อค้าคนกลางได้ไปจัดจำหน่ายให้กับผู้รับเหมารายไหนต่ออีกทอด แต่ยืนยันว่าหลังจากที่ได้มีการผลิตเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางโรงงานก็ได้มีการตรวจคุณภาพตั้งแต่ต้น พอนำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ฝั่งพ่อค้าคนกลางก็จะมีการตรวจค่ามาตรฐานซ้ำอีกรอบ ซึ่งถ้าหากผ่านมาตรฐานก็จะนำไปจำหน่ายให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และก่อนที่จะนำเหล็กไปสร้างนั้น ทางผู้รับเหมาก็จะมีการตรวจสอบอีกขั้นก่อนจะนำเหล็กไปใช้
แต่อย่างไรก็ตามทางทนายความของบริษัทชินเคอหยวน ก็ได้ขอชี้แจงว่า เหล็กของอาคาร สตง. ที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการนำไปตรวจสอบแล้วพบว่าเหล็กของบริษัทชินเคอหยวน ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าเหล็กของบริษัทที่ได้นำไปก่อสร้างอาคาร ระหว่างนั้นเหล็กอาจจะไปโดนความร้อน โดนปูน หรือส่วนผสมในการก่อสร้าง จนทำให้มีการส่งผลต่อคุณภาพของเหล็ก และก็ยังไม่รู้ว่าในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. มีการใช้เหล็กของบริษัทในอัตราสัดส่วนเท่าไหร่
ภาพ/ข่าว ราชัญ กองทอง ผู้สื่อข่าว จ.ระยอง