สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ศธ. ครั้งที่ 2/2568 .

วันที่ 3 เมษายน 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2568 โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารของ ศธ. สพฐ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

โอกาสนี้ สพฐ. ได้รายงานผลการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรฯ จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 เมษายน 2568 มีผู้สมัครเข้าระบบสถานีแก้หนี้ จำนวน 7,762 ราย ได้รับการแก้ไขสำเร็จ จำนวน 1,658 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.36 และมีมูลหนี้ที่แก้ไขสำเร็จรวมกว่า 4,974 ล้านบาท โดยวิธีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ประสานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ย กู้ธนาคารไปชำระหนี้นอกระบบ และทำเรื่องพักชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือให้สำเร็จต่อไป ส่วนในด้านการอบรมการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน E -Learning Money Coach 248 Node หลักสูตร : Money Coach โดย โค้ชหนุ่ม ซึ่งเป็นการอบรมออนไลน์ด้วยระบบ E-Learning “สร้างความยั่งยืน” ด้วยความรู้ด้านการเงิน มีผู้สนใจเข้าอบรม จำนวน 135,513 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่กำลังอบรม 33,234 คน และผู้ที่ผ่านการอบรม จำนวน 101,332 คน คิดเป็นร้อยละ 74.8 พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้วางแผนการเสริมสร้างวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำคลิปวิดีโอประโยชน์จากการอบรม E -Learning Money Coach ประชาสัมพันธ์ในช่องทางสื่อต่างๆ ของ สพฐ. และ สพท. เชิญชวนให้ครูและบุคลากรในสังกัดเข้ารับการอบรม พร้อมเตรียมการอบรมพัฒนาและส่งเสริมการสร้างวินัยทางการเงินให้กับกลุ่มครูก่อนเกษียณ เพื่อป้องกันการเป็นหนี้เสีย โดยให้ สพท. รายงานผลการอบรมผ่านโปรแกรมออนไลน์ทุกสิ้นเดือน

นอกจากนี้ สพฐ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย รวมถึงตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และผู้แทนครู เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการร่วมกัน โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเปราะบาง กลุ่มข้าราชการบำนาญ และกลุ่มข้าราชการประจำ เพื่อให้ข้าราชการมีคุณภาพชีวิตและสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น โดยกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ความเห็นว่า หากจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกลุ่มเปราะบาง เพื่อจะเป็นการรวบหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ มาไว้ที่สหกรณ์ที่เดียว ควรมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ระหว่างร้อยละ 6 และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.75 เพื่อที่ว่าปลายปีผู้กู้จะได้รับเงินเฉลี่ยคืน ดอกเบี้ยที่กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยประมาณ 10-15% แล้วแต่ผลกำไรของสหกรณ์ นอกจากนี้หากจะให้สหกรณ์ออมทรัพย์ลดดอกเบี้ยลงอีกควรหาเงินทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าร้อยละ 3 เพื่อมาชดเชยและทำให้สหกรณ์สามารถช่วยสมาชิกกลุ่มเปราะบางนี้ให้ได้เงินดีขึ้น และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย แจ้งว่า จะทำหน้าที่ประสานงาน และจัดประชุมเพื่อรวบรวมปัญหาสหกรณ์ หนี้สิน การบริหารของสหกรณ์ ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาของสหกรณ์แต่ละแห่ง ซึ่ง สพฐ. และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ รวมทั้ง ผอ.สพท. ทุกแห่งจะได้ร่วมประชุมหารือกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้หารือในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ ผลการประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เกี่ยวกับแนวทางการขอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เพื่อหักเงินเดือน 70:30 ของกระทรวงศึกษาธิการ และการจัดตั้งสหกรณ์กลาง เพื่อรับโอนย้ายครูที่มีเงินเดือนเหลือวิกฤต ถูกฟ้องร้อง และสมัครใจที่จะโอนย้าย, การเปิดระบบการอบรมออนไลน์ OBEC Money Coach เพื่อพัฒนาสมรรถนะทางการเงินแก่ครูและบุคลากรฯ โดยขยายระบบของ สพฐ. ให้ครอบคลุมทุกส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการ และการพัฒนาโปรแกรมสำหรับสถานีแก้หนี้ครู ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกแท่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ, (ร่าง) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของข้าราชการและบุคลากรในสังกัดฯ ที่ประสงค์จะใช้สิทธิในการกู้เงินหรือขอสินเชื่อจากสหกรณ์หรือสถาบันการเงิน, และการดำเนินการตามข้อหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เป็นต้น