สพฐ. เยี่ยมครูวิทยากร ค่าย สอวน. ฟิสิกส์ แนะสร้างการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง เติมเต็มศักยภาพนักเรียนยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมให้กำลังใจผู้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการครูวิทยากร ค่าย 1 สอวน. วิชาฟิสิกส์โอลิมปิก ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย ครูวิทยากรจากศูนย์ สอวน. วิชาฟิสิกส์ ในกรุงเทพมหานครและศูนย์ภูมิภาค ทั้ง 25 ศูนย์ รวมทั้งสิ้น 290 คน
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ร่วมกับ สพฐ. เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพครูให้มีสมรรถนะในด้านการจัดการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ ตามแนวทางหลักสูตรโอลิมปิกวิชาการและตามแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยเน้นเนื้อหาวิชาฟิสิกส์อย่างเข้มข้นในภาคทฤษฎี และการอบรมแบ่งเป็น 5 วิชา ได้แก่ 1) วิชาแคลคูลัส 2) วิชากลศาสตร์ 3) วิชาความร้อน 4) วิชาเทอร์โมไดนามิก และ 5) วิชาแม่เหล็กและไฟฟ้า
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ภายใต้แนวคิดที่หลากหลายและแตกต่าง การมองเห็นสิ่งที่ยังไม่ปรากฏชัดต่อสายตาผู้อื่นเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะในวิชาฟิสิกส์ ซึ่งมักเต็มไปด้วยความซับซ้อนและความเป็นนามธรรม จึงขอให้คุณครูทุกท่านรักษาความมุ่งมั่นไว้ อย่าเพิ่งท้อถอยเมื่อเผชิญกับความยาก การเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเรื่องที่ยาก แล้วแปรเปลี่ยนให้เรียบง่ายเพื่อใช้ในการอธิบาย ถือเป็นทักษะสำคัญที่ครูทุกคนควรฝึกฝน เพื่อให้นักเรียน ครูร่วมวิชาชีพ หรือผู้ที่รับฟังสามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง ดังนั้น บทบาทของครูไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองเท่านั้น แต่ต้องสามารถถ่ายทอดเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประเมินได้ว่าผู้เรียนเข้าใจในสิ่งที่ถ่ายทอดหรือไม่ หากยังไม่เข้าใจ ครูควรหาวิธีเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน ซึ่งอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้เนื้อหาวิชาฟิสิกส์เข้าถึงผู้เรียนได้ง่ายขึ้น คือการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคย ความเชื่อมโยงนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น และสามารถนำความรู้ไปใช้ในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างมีความหมาย

นอกจากนี้ ภายใต้บทบาทหลักของผู้เป็นครู การทำหน้าที่ไม่จำกัดอยู่ที่การพัฒนาตนเองเพียงลำพัง แต่รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดสู่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการสอนที่ดีจะเกิดผลสูงสุดเมื่อผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองสามารถเข้าใจและลงมือทำได้จริง ซึ่งนั่นสะท้อนว่าครูสามารถแปรเปลี่ยนความรู้ที่ซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย และความง่ายนั้นจะมีความหมายมากที่สุดเมื่อผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ในส่วนของการทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ครูจำเป็นต้องมีความสามารถในการสังเกตและวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อพิจารณาว่าใครต้องได้รับการส่งเสริมหรือเติมเต็มด้านใด ทั้งในเชิงความรู้และทักษะ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละบริบท นอกจากนี้ การจัดบรรยากาศในห้องเรียนก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้เนื้อหาที่ยากกลายเป็นสิ่งที่นักเรียนเข้าถึงได้ ครูควรมองเห็นภาพรวมของบทเรียน เชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริง และบูรณาการสิ่งที่นักเรียนสนใจหรือคุ้นเคยเข้าไปในเนื้อหา ทั้งในเชิงความคิด กระบวนการ และเนื้อหาวิชา เพื่อจุดประกายการเรียนรู้อย่างมีความหมาย และเติมเต็มศักยภาพของนักเรียนให้เติบโตอย่างรอบด้าน

“ในการอบรมครั้งนี้ ได้เห็นความกระตือรือร้น ใส่ใจ และทุ่มเทของคุณครูที่มาอบรมทุกคน ทำให้รู้สึกยินดีว่านักเรียนของเราจะได้รับการพัฒนาทักษะวิชาฟิสิกส์อย่างมีคุณภาพ ในทั่วทุกภาคของประเทศ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่เน้นย้ำการยกระดับมาตรฐานด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศไทยให้มีความยั่งยืน สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน และขอให้คว้าโอกาสตรงนี้ที่ได้เจออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางฟิสิกส์มาสอนให้ความรู้ นำไปผสมผสานและแปลงออกมาเป็นคำพูดที่ทำให้นักเรียนรู้เรื่อง จนได้รับในสิ่งที่เราต้องการให้ไปสู่เป้าหมาย รวมถึงเพิ่มเติมองค์ความรู้ของตนเองได้ จากการได้เรียนและต่อยอดทำในสิ่งที่ชอบ เราจึงต้องสร้างคนที่คิดแบบนักฟิสิกส์ในอนาคตให้เข้มแข็ง เรามีนักฟิสิกส์ที่ถือว่ารวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง อุดรูรั่วของแต่ละคนและไปด้วยกัน จับมือกัน ผลจะดีต่อนักเรียนที่อยู่กับเราและทุก ๆ ห้องเรียนจะกลายเป็นการยกระดับมาตรฐานของความคิดที่ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการต่อยอดเรื่องอื่น ๆ อย่างเข้มแข็งต่อไป” รองเลขาธิการ กล่าว