เสมา 1 สั่งลุย Future Skill ต่อยอดการใช้ AI ให้ครู 1,400 คน ขยายผลทุกพื้นที่สู่นักเรียนทุกคน

วันที่ 6 เมษายน 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนนำร่องในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศเข้ารับการอบรม จำนวน 62 เขต 700 โรงเรียน รวม 1,400 คน เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูด้าน AI ด้านเทคนิคการสอน และการใช้แพลตฟอร์ม Adaptive Education Platform ให้ครูสามารถนำไปขยายผลต่อในชั้นเรียน และเป็นการวางรากฐานการใช้ AI สำหรับนักเรียนเพื่อประโยชน์ในอนาคต
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน จึงมีข้อสั่งการให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่จำเป็น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งต้องเร่งทำโดยทันทีเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ‘เพราะการศึกษารอช้าไม่ได้ ต้องปฏิวัติการศึกษา’ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี AI ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทันสมัย แต่คือการวางรากฐานให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการเรียนรู้และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้คุม และนำ AI รวมทั้งสร้างเยาวชนที่รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

สพฐ. พร้อมขับเคลื่อนตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) ที่มุ่งเน้นการนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะรู้เท่าทันและสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ AI-Adaptive สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จำนวน 5 โมดูล 2. การอบรมครูแกนนำจำนวน 1,400 คน จาก 700 โรงเรียน ใน 6 จุดอบรม ครอบคลุม 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (90 โรง), ภาคกลางและตะวันออก (190 โรง), ภาคอีสานตอนบน (140 โรง), ภาคอีสานตอนล่าง (140 โรง), ภาคใต้ (90 โรง) และพื้นที่พิเศษ EEC (50 โรง) และ 3. การส่งเสริมให้ครูแกนนำนำระบบ AI-Adaptive และเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนอย่างยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันด้าน AI ของประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 จะมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายกว่า 42,000 คน ลงทะเบียนใช้งานระบบ AI-Adaptive โดยมีครูแกนนำเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และระบบยังสามารถรองรับการขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ๆ ที่มีความพร้อมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านโอกาสทางการศึกษา
“การที่ครูทุกท่านเสียสละเวลามาเรียนรู้ AI ไม่ใช่เพื่อสอนเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เพื่อเปลี่ยนบทบาทของตนเองเป็น ‘ผู้อำนวยการเรียนรู้’ ที่เข้าใจบริบทของผู้เรียน พร้อมนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาศักยภาพนักเรียนอย่างเต็มที่ และเป็นผู้ร่วมกันสร้างข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อนำไปเป็น Data ที่เชื่อถือได้ ในการนำไปใช้ AI ในการ Generate หรือ สังเคราะห์ หรือจัดระเบียบข้อมูล รวมทั้งไปต่อยอดทั้งเรื่องการเขียนคำสั่ง ตั้งคำถาม เพืีอไปสู่การแสวงหาความรู้ในสิ่งที่อยากรู้ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อฐานความคิดของนักเรียนต่อไป ในอนาคต ซึ่งจากการอบรมทุกครั้งที่ผ่านมา ดิฉันได้เห็นถึงความตั้งใจของครูทุกท่าน ทั้งในการเรียนรู้แนวคิดใหม่ การทดลองใช้ระบบ AI-Adaptive และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ทั้งในด้านกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหา และการประเมินผล ตรงตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในทุกพื้นที่ จนเกิดทักษะที่จำเป็น “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้เตรียมขยายผลระบบ AI-Adaptive ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 โดยสนับสนุนให้นำไปใช้เป็น “รายวิชาเพิ่มเติม” ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะมีการติดตามผลการดำเนินการและคัดเลือกครูเพื่อมอบรางวัล “ครูแกนนำ LEAD Education AI” และรางวัล “ครูแกนนำดีเด่น Elegant LEAD Education AI” เพื่อยกย่องครูผู้มีผลงานโดดเด่นในการบูรณาการเทคโนโลยี AI กับการจัดการเรียนรู้ในเดือนพฤศจิกายน 2568 นอกจากนี้ สพฐ. ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริม “การใช้ AI อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย” โดยได้จัดทำ “คู่มือการใช้ AI สำหรับครู นักเรียน โรงเรียน และผู้ปกครองในประเทศไทย พ.ศ. 2568” ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญเกี่ยวกับความรู้พื้นฐาน ประโยชน์ ข้อควรระวัง จริยธรรม และแนวทางการใช้ AI อย่างมีวิจารณญาณ พร้อมจัดทำในรูปแบบเอกสารหลัก โปสเตอร์ และสื่อภาพประกอบที่สามารถนำไปใช้ในโรงเรียนได้ทันที
โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย เตรียมความพร้อมครู นักเรียน และโรงเรียน ให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของพลเมืองในอนาคตอันใกล้นี้