“ไพจิตร มานะศิลป์” ประธานหอการค้าโคราชคนใหม่ พร้อมพลิกโฉมเมืองย่าโม กางแผนพัฒนาเศรษฐกิจใน “ยุค New Gen” ชูคอนเซ็ปต์ ผู้นำการเชื่อมต่อเครือข่ายธุรกิจ ยกระดับและพัฒนาสมาชิกหอโคราช

“นายไพจิตร มานะศิลป์ หรือ บู้” ก้าวขึ้นรับไม้ต่อผู้นำเศรษฐกิจโคราช หลังจากเป็นรองประธาน และกรรมการหอการค้าโคราช มาแล้วกว่า 16 ปี 8 สมัย พร้อมประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน “เราจะทำให้โคราชกลับมาคึกคักทั้ง 32 อำเภอ และสร้างความภูมิใจให้คนโคราชด้วยนโยบาย ‘KORAT FIRST’ กับภารกิจ “เชื่อมต่อ-ยกระดับ-พลิกโฉม” อีกทั้งคณะกรรมการชุดใหม่เต็มไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง Young Entrepreneur Chamber (YEC) กว่า 26 คน จากทั้งหมด 35 คน พลังคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เตรียมขับเคลื่อนโคราชสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอีสานใต้ โดยวางยุทธศาสตร์ 3 ฐานราก
1. เสริมแกร่งสมาชิก ด้วย Business Matching และสิทธิประโยชน์กว่า 100 รายการ โดยการให้ความสำคัญกับสมาชิกหอการค้า รวมทั้งผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น โดยเฉพาะการเสริมเขี้ยวเล็บด้วยการจัดอบรมโดยการเชิญวิทยากรชื่อดังระดับประเทศมาให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพให้กับสมาชิก และการจัด Business Matching หาช่องทางการตลาด และกระตุ้นให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น การมอบสิทธิพิเศษในโครงการสิทธิประโยชน์ของสมาชิก ร่วมกับเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศให้สามารถใช้ส่วนลดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก และขณะเดียวกันจะให้คำแนะนำปรึกษาแก่สมาชิกที่ประสบปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งการช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และมีความพร้อมที่จะสู้กับเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน
2. กระตุ้นเศรษฐกิจ 32 อำเภอ ผ่านการยกระดับสินค้าชุมชนและท่องเที่ยว เริ่มจากการพัฒนาเศรษฐกิจภายในเมือง ซึ่งเศรษฐกิจค่อนข้างเงียบเหงา ภายใน 2 ปีนี้เราจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาให้เกิดความคึกคัก จะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 32 อำเภอ จะไม่กระตุ้นเฉพาะในอำเภอเมืองเท่านั้น เพราะโคราชมี 32 อำเภอ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ของแต่ละอำเภอ ให้มีจุดเด่น ให้ทีมนักพัฒนาและออกแบบเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสินค้าต่างอำเภอ ชูจุดเด่นของแต่ละอำเภอออกมาขายให้คนรู้จักและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อไป
3. เร่งเครื่องเมกะโปรเจ็กต์ รองรับการเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2029 โดยเราแบ่งการทำงานออกเป็น 7 ฝ่าย มีรองประธานหอการค้ากำกับดูแลทั้ง 7 ฝ่าย เพื่อให้การขับเคลื่อนงานได้รวดเร็วมากขึ้น ดังนี้ 1. ฝ่ายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน 2. ฝ่ายกิจกรรม ภาครัฐและเอกชน 3. ฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร 4. ฝ่ายท่องเที่ยวและกิจกรรมพิเศษ 5. ฝ่ายสมาชิกและสิทธิประโยชน์ 6. ฝ่ายวิชาการ และ 7. ฝ่ายเกษตร
“เป้าหมายเราชัดเจน คือเพิ่ม GPP โคราชให้โต 3-5% ต่อปี และดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาให้ได้มากที่สุด”

 

 

 

 

สำหรับ 5 ยุทธศาสตร์เด่น “หอการค้าโคราช” ยุคใหม่ ได้แก่
1. KORAT FIRST: ซื้อของคนโคราช สร้างวงจรเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการรณรงค์ให้คนโคราชอุดหนุนสินค้าท้องถิ่น หันมาซื้อสินค้าของคนโคราชกันเอง พร้อมจับมือ 4 มหาวิทยาลัยพัฒนานวัตกรรมสินค้า

2. ฟื้นเศรษฐกิจเมือง-อำเภอ คู่ขนาน โดยในเมืองตั้งเป้าที่จะปลุกย่านการค้าเดิมด้วยกิจกรรมไนท์มาร์เก็ต ซึ่งมีศักยภาพอยู่หลายพื้นที่ที่สามารถทำให้กลับมาคึกคัก และส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนในตัวเมือง เพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาในโคราชไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ส่วนพื้นที่ต่างอำเภอเร่งออกแบบการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ให้มากขึ้น ชูสินค้าจุดเด่นแต่ละพื้นที่ให้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้มากที่สุด เช่น ผ้าไหมปักธงชัย ไวน์ผลไม้พิมาย เป็นต้น

3. ระเบิดเมกะโปรเจ็กต์ก่อนปี 2029 เร่งผลักดันโครงการสำคัญให้ทันการจัดงาน“มหกรรมพืชสวนโลก 2029” ซึ่งคาดการณ์จะมีเงินสะพัดมากกว่า 20,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-โคราช), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั้ง 3 โครงการนี้ หอการค้าฯ มีความตั้งใจที่จะเร่งและติดตามโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2571 เพื่อจะได้รองรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2572 ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 4 ล้านคน ก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 9,163 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บภาษี 3,429 ล้านบาท และสร้างงาน 36,003 อัตรา
– โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดนครราชสีมาได้รับการประกาศเป็นเมืองไมซ์ (MICE City) ล่าสุดได้จัดเตรียมความพร้อมในการยกระดับเมืองไมซ์ โดยได้มีการเสนอพื้นที่ที่เหมาะสม หากมีการดำเนินการสำเร็จผ่านในขั้นของคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองพื้นที่รองรับการสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ก็จะมีการนำเสนอในคณะรัฐมนตรี ในการพิจารณาถึงขั้นงบประมาณในการลงทุนเพื่อดำเนินการ การสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการต่อไป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ก็จะสามารถเปิดให้มีการจัดกิจกรรมการประชุม หรือแสดงสินค้า หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
– โครงการพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์โลก โดยโครงการนี้เคยนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยนำเสนอผ่านในนามหอการค้ากลุ่มนครชัยบุรินทร์ หลังจากนั้นได้มีการนำโครงการมาปรับแบบ รวมทั้งตัวโครงการ และได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจหลายครั้ง ซึ่งยังไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง โดยต้องใช้งบประมาณ 194 ล้านบาท พื้นที่โครงการจำนวน 18 ไร่ อยู่บริเวณแหล่งฟอสซิลริมแม่น้ำมูลของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีการค้นพบช้างดึกดำบรรพ์จำนวน 10 สกุลจาก 55 สกุลที่พบทั่วโลกเป็นการค้นพบที่มากที่สุดในโลกสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวระดับโลก หากสามารถทำการก่อสร้างได้จะทำให้รองรับนักท่องเที่ยวจากทั้งไทยและต่างชาติ สร้างกิจกรรมร่วมกับชุมชนและเครือข่ายในและต่างประเทศที่สามารถใช้รองรับการตรวจประเมินซ้ำในทุก 4 ปีของโครงการจีโอพาร์คโลก ยูเนสโก้ สร้างความเชื่อมโยงเส้นทางช้างดึกดำบรรพ์โคราชสู่ช้างสุรินทร์ปัจจุบันได้ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดและชุมชนในพื้นที่อีกมหาศาล
– โครงการเมืองใหม่สุรนารี เป็นโครงการที่หอการค้าฯ เป็นผู้นำเสนอและผลักดันมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว เพราะโคราชมีความเจริญเพิ่มต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาหลายโครงการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของจังหวัด แต่ถ้าไม่ได้กำหนดแนวทางการเติบโตของจังหวัดไว้อย่างแน่ชัด จะทำให้ความเจริญกระจุกตัว และเกิดปัญหาต่างๆต่อมาได้ในอนาคต โครงการนี้ตามแผนต้องใช้งบประมาณมากกว่า 7-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เหมาะสมของโครงการ
เมกะโปรเจ็กต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หอการค้าฯ ได้นำเสนอและยื่นจดหมายถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา และจะเร่งติดตามความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาในทุกๆ ครั้งต่อไป เพื่อไม่อยากให้โคราชเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกมหาศาล

 

 

 

 

4. สร้างเครือข่ายธุรกิจระดับชาติ-นานาชาติ การให้บริการด้านต่าง ๆ กับผู้ประกอบการ และสมาชิกหอการค้าฯ ซึ่งหอการค้าโคราชมีศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ, ศูนย์ธุรกิจ SMEs ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการดำเนินธุรกิจ, ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคเอกชน ช่วยแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายโดยตรง, ศูนย์อาเซียนศึกษา เพื่อส่งเสริมการลงทุน, ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทางธุรกิจ, ศูนย์รับสมัครศึกษาต่อของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, การให้บริการจัดทำ APEC Business Travel Card เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ ให้คำปรึกษาการขยายตลาดกับนักลงทุน, การออกใบรับรองการเป็นสมาชิกหอการค้า เพื่อนำไปยื่นในการดำเนินกิจการต่าง ๆ และการยกระดับและต่อยอดธุรกิจโดยการหาแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิก เป็นต้น

5. หอการค้าเพื่อสังคม ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจ แต่หอการค้าฯ เรายังให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมผ่านโครงการ “โคราชไม่ขาดเลือด” ตั้งเป้าหมายรณรงค์ให้มีผู้เข้ามาบริจาคเลือดให้ได้ปีละ 5 แสนซีซี และโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในวาระต่างๆ ตลอดทั้งปี เป็นต้น

“ทิศทางใหม่…โคราชจะไม่เหมือนเดิมด้วยสโลแกน Connect the Dots หอการค้าโคราชยุคใหม่จะไม่ใช่แค่ศูนย์รวมธุรกิจ แต่เป็นผู้เชื่อมโยง ที่รวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ตั้งแต่เกษตรกรรุ่นเก่า สู่สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ตั้งแต่ถนนหนทางในอำเภอ ถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่กำลังมาถึง ความสำเร็จของโคราช ต้องมาจากความร่วมมือของทุกคน…เราจะเดินไปด้วยกัน!” นายไพจิตร กล่าว.