อุทยานแห่งชาติภูเรือ Hot Spot ยังเป็น 0 วางมาตราการเข้ม “เข้าใจ เข้าถึง ร่วมมือ งดเผา”

อุทยานแห่งชาติภูเรือ Hot Spot ยังเป็น 0 วางมาตราการเข้ม “เข้าใจ เข้าถึง ร่วมมือ งดเผา” ส่งเจ้าหน้าที่ชุดพิเศษลาดตระเวนในพื้นที่ชั้นใน ทำแนวกันไฟ ในพื้นที่ไข่แดง เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ฯ ลาดตระเวน และจัดการเชื้อเพลิง ในพื้นที่ไข่ขาว และจัดตั้งจุดสกัดเฝ้าระวังไฟป่าทุกหมู่บ้านรอบแนวเขตฯในพื้นที่เปลือกไข่ (ไข่ต้ม)

อุทยานแห่งชาติภูเรือเผยยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการไฟป่าที่ประสบผลสำเร็จ ณ ช่วงเวลานี้ ที่ในพื้นที่ Hot Spot เป็น 0 “ยุทธศาตร์ไข่ต้ม” มาตรการดูแลพื้นที่ 3 ชั้น โดย ชั้นที่ 1 พื้นที่ไข่แดง คือ พื้นที่สำคัญ ได้แก่ เรือนรับรองที่ประทับภูเรือ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ แหล่งท่องเที่ยว อาทิ ยอดภูเรือ ลานกางเต็นท์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และพื้นที่ป่าชั้นในที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าจากจุด Hot Spot ที่พบ 3 ปีย้อนหลัง และวางแผนทำแนวกันไฟป้องกันไฟลุกลามเข้าพื้นที่ มีชุดปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็ว ลาดตระเวนตรวจตราทั่วพื้นที่ด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อการเข้าถึงพื้นที่ได้รวดเร็ว และเตรียมความพร้อมตลอดเวลาเมื่อเกิดเหตุไฟป่าจะต้องเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทันที

ชั้นที่ 2 พื้นที่ไข่ขาว คือ พื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติภูเรือ มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าจากจุด Hot Spot ที่พบ 3 ปีย้อนหลัง มีการกำจัดเชื้อเพลิงสะสมโดยวางแผนแบ่งแปลงย่อยเพื่อทำการชิงเผาตามมาตรการของจังหวัดเลยโดยคำนึงถึงค่า PM 2.5 ในพื้นที่ และมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทำหน้าที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังรอบแนวเขตระหว่างพื้นที่ทำกินของราษฎรตาม ม.64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่มีการทำการเกษตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงที่ไฟอาจลุกลามจากการทำเกษตร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอและเจ้าหน้าที่มีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลาเมื่อเกิดเหตุไฟป่าจะต้องเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทันที

ชั้นที่ 3 พื้นที่เปลือกไข่ คือ พื้นที่รอบแนวเขต ซึ่งมีการจัดตั้งจุดเฝ้าระวังไฟป่า จำนวน 15 จุด ตามจำนวนหมู่บ้านรอบแนวเขต และมีการจัดจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นๆ มาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังจะทำหน้าที่สังเกตบริเวณพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า ตรวจตราบริเวณที่ได้รับมอบหมาย เมื่อพบกลุ่มควันเจ้าหน้าที่จะรายงานค่าพิกัดให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเรือทราบทันที โดยเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังผ่านการอบรมความรู้พื้นฐานเทคนิคการอ่านแผนที่เบื้องต้นและการใช้ Application Timestam เพื่อความแม่นยำในการรายงานจุดเกิดเหตุไฟป่า รวมถึงเทคนิคการใช้อุปกรณ์ดับไฟป่าต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยทำแนวกันไฟ ตลอดจน จนบันทึกรายชื่อบุคคลที่เข้า-ออก พื้นที่ ช่วยประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันงดเผาทุกชนิด รวมถึงเมื่อเกิดเหตุไฟป่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมสถานการณ์

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง อุทยานแห่งชาติภูเรือ เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ “เข้าใจ เข้าถึง ร่วมมือ งดเผา” “เข้าใจ” หมายถึง เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจถึงภัยอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากไฟป่าที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพอากาศแย่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและสภาพเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยการลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องลงพื้นที่แบบเคาะประตูบ้าน เคาะประตูไร่ ทุกหมู่บ้านรอบแนวเขต “เข้าถึง” คือเจ้าหน้าที่เข้าถึงประชาชน ผู้นำชุมชน เพื่อขอความร่วมมือในการงดเผา “ร่วมมือ” เมื่อประชาชนเข้าใจเจ้าหน้าที่เข้าถึงประชนจึงเกิดความร่วมมือขึ้น “งดเผา” เมื่อได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดีจึงไม่มีการเผาเกิดขึ้นในพื้นที่