ชาวสุรินทร์ แห่ขึ้นเขาสวาย เคาะระฆัง 1,080 ใบ ไหว้ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล

วันที่ 22 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณประตูทางขึ้นเขาสวาย ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีขึ้นเขาสวาย ประจำปี 2566 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีนางนัทธมน ศิริวัฒนวานิช รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวรายงาน โดยมีข้าราชการ หัวหน้าหส่วนราชการ และประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ก่อนเคลื่อนขบวนแห่ขึ้นไปยังยอดเขาสวาย เพื่อกราบไหว้ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนวนอุทยานเขาพนมสวาย

 

 

ประเพณีขึ้นเขาสวาย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปี บรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือว่าเป็นงานประเพณีหยุดงาน ซึ่งประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในทุกปีชาวจังหวัดสุรินทร์จะร่วมมือร่วมใจจัดงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวาย ประกอบกับวันดังกล่าว ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ดังนั้นชาวสุรินทร์จะหยุดงานและพากันเดินทางไปขึ้นเขาสวายเพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลชีวิตต่อตนเองและครอบครัว โดยจะพากันประกอบกิจกรรมกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายหลัก ทั้ง 9 คือ พระใหญ่หรือพระพุทธสุรินทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และร่วมเคาะระฆัง 1,080 ใบ เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

 

 

และถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมสำคัญ ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองมาอย่างยาวนานแห่งหนึ่ง  “เขาสวาย” หรือ “พนมสวาย” ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสวาย ในพื้นที่ตำบลนาบัวและตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 22 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ติดต่อกัน รอบ ๆ บริเวณ มีเวิ้งน้ำใหญ่ ทิวทัศน์สวยงาม มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด มียอดเขาที่สำคัญ 3 ยอด ยอดที่ 1 เรียกว่า ยอดเขาชาย(พนมเปร๊าะ) สูง 220 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรทรมงคลและระฆังมหากุศล 1,080 ใบ จาก 1,080 วัด ยอดที่ 2 เรียกว่ายอดเขาหญิง(พนมสรัย) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ยอดเขาที่ 3 เรียกว่า เขาคอก (พนมกรอล) สูง 150 เมตร เป็นที่ตั้งศาลาอัฐฐะมุข ซึ่งเป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

 

 

 

 

เขาสวาย มีความสำคัญต่อชาวสุรินทร์มาตั้งแต่โบราณกาล โดยทุกเดือนห้าของทุกปีบรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือว่าเป็นงานประเพณีหยุดงาน ซึ่งการหยุดงานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตอมตู๊จ ซึ่งหมายถึงวันหยุดงานเล็ก จะมีการหยุดงาน ทำงานเพียง 3 วัน นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า ช่วงที่ 2 ช่วงตอมธม หมายถึง วันหยุดใหญ่ จะมีการหยุดทำงานทั้งหมด 7 วัน นับแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ชาวสุรินทร์มีความเชื่อว่า ต้องหยุดการทำงานทั้งหมด หากใครไม่หยุดทำงานเชื่อว่าก็จะมีอันเป็นไป ทำให้ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ชาวจังหวัดสุรินทร์จะร่วมมือร่วมใจจัดงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวายขึ้น ประกอบกับวันดังกล่าวถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ และพากันหยุดงานเดินทางขึ้นเขาสวายกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลชีวิตต่อตนเองและครอบครัว

 

สำหรับปีนี้ อากาศค่อนข้างร้อนมีแสงแดด โดยตลอดทั้งวันมีประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างทยอยแห่กันไปร่วมประเพณีและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือบนวนอุทยานพนมสวาย รวมทั้งเคาะระฆัง 1,080 ใบ จาก 1,080 วัด กันอย่างคึกคัก.

 

 

ภาพ/ข่าว กฤษดากร กีรติธำรงค์เจริญ ผู้สื่อข่าว จ.สุรินทร์