จังหวัดขอนแก่น พบโบราณสถานขนาดใหญ่กลางทุ่งนา อายุกว่า 800 ปี

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พร้อมนักโบราณคดี ลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานโนนพระแท่น กลางทุ่งนาทางด้านทิศใต้ พื้นที่บ้านหนองโก หมู่ 3 ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น หลังจากที่มีชาวบ้าน ทำหนังสือขอให้ตรวจสอบ หินทรายและศิลาแลงกลางทุ่งนาบ้านหนองโก  โดย มีนายช่วง วงษ์หาแก้ว อายุ 83 ปี เจ้าของที่นา และนายศรัญญู ภูเวียงแก้ว อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน พาเจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบจุดศูนย์รวมของหินทรายและศิลาแลง ดังกล่าว

 

นายช่วง วงษ์หาแก้ว เจ้าของที่นา เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นหินเหล่านี้วางอยู่บริเวณเนินดินกลางทุ่งนาแล้ว  ทั้งนี้ในช่วงที่พ่อของตนเองยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้นำหินที่พบในทุ่งนา ขึ้นมาวางเรียงกันไว้  และมีชาวบ้าน ในพื้นที่นำดอกไม้ ธูปเทียนมากราบไหว้ ขอในสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็สมหวัง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนหมู่บ้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน  โดยในทุกวันพุธแรกของเดือนเมษายน ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ บวงสรวง และสักการะบูชา โบราณสถานดังกล่าว

 

 

 

 

ทั้งนี้นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจเช็คและวัดหินทรายที่มีทั้งหมด 16 ชิ้นแต่ละชิ้นยาวประมาณ 1.5- 2 เมตร และตรวจวัดศิลาแลงที่มียู่ประมาณ 30 ชิ้น พร้อมทั้งแนะนำชาวบ้านและผู้นำชุมชน โดยห้ามปักธูป เทียน บนหิน และศิลาแลง เด็ดขาด เพราะจะกระทบความสมบูรณ์ของหิน

 

นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กล่าวว่า จุดที่พบหินทราย และศิลาแลง เป็นโบราณสถานที่เรียกว่า อาคาร ซึ่งได้รับอิทธิพล มาจากวัฒนธรรมเขมร  และจากลักษณะของรูปแบบ ภาพสลักที่พบเป็นภาพสลักหินทราย สันนิษฐานว่า หากสมบูรณ์จะเป็นภาพของการกวนเกษียรสมุทร จะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งยักษ์กับฝั่งเทพ ที่จะจับตัวพญานาค  และจากลักษณะของภาพสลักที่ปรากฏ กำหนดอายุเบื้องต้นอยู่ใน พุทธศตวรรษ ที่ 17 – 18 ซึ่งอยู่ในช่วง ศิลปะนครวัดถึงบายล

 

 

 

 

และหากดูจากทางด้านทิศเหนือ ของโบราณสถานแห่งนี้ น่าจะเป็นชุมชนโบราณที่เก่าแก่ได้ถึงก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจาก มีการสำรวจพบ ชุมชนโบราณ ในบริเวณใกล้เคียง จุดนี้ หลายแห่ง ทั้งที่อยู่ในเขตอำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอชนบท  และจากข้อมูล ในพื้นที่ในหมู่บ้าน หนองโก เคยมีการขุดพบเศษภาชนะดินเผา บริเวณโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเนิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานที่มีมานาน ก่อนที่จะมีการสร้างโบราณสถานแห่งนี้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการมีชุมชนโบราณอาศัยอย่างต่อเนื่อง ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงประมาณกว่า 800 ปี ที่ผ่านมา  หากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน บริเวณที่พบโบราณสถาน คือ วัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์.

 

 

 

 

 

ศูนย์ข่าวภาคอีสาน