สิงห์บุรี มอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”

วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทานลายดอกรักราชกัญญา ให้แก่รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสิงห์บุรี พัฒนาการจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสิงห์บุรี ที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ กลุ่มทอผ้าและกลุ่มหัตถกรรมในพื้นที่ จำนวน 23 ราย โดยมีนายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นางจิราภรณ์ กองเงิน รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสิงห์บุรี นายถวิล ยี่สุ้นแสง พัฒนาการจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ กลุ่มองค์กร และแขกผู้มีเกียรติร่วมพิธี ณ เรือนไทยหัตถศิลป์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

สืบเนื่องจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำไปมอบต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม วันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. โดยนายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี รับมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5 – 6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปมอบต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรมจังหวัดสิงห์บุรี เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ซึ่ง “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เป็นลายผ้าที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก

ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S สื่อถึงพระกรุณาธิคุณ พระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้มีที่ยืนในโลกใบใหม่ได้อย่างภาคภูมิ ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความจงรักภักดีที่ช่างทอผ้า ทุกกลุ่มทุกเทคนิคจากทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ แสดงต่อพระองค์ และได้เทิดทูนพระองค์ไว้เหนือเกล้า เหนือกระหม่อมชั่วลูกสืบหลาน ลายดอกรักห้ากลีบ สื่อถึงจิต 5 ประการ ที่ถักทอผืนผ้าแห่ง ความสำเร็จ ได้แก่ ความเชี่ยวชาญ ความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความเคารพและเข้าใจ และความมีคุณธรรม และลายกระจังใจรัก สื่อถึงความรักและห่วงใยจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์

ประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายก มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S ตัวใหญ่ สื่อถึงพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าและงานหัตถศิลป์ไทยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตัวอักษร S ตัวเล็ก สื่อถึงพระดำริที่ตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในสมเด็จย่าของพระองค์ ทางด้านการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ลายกรอบย่อมุม สื่อถึงภูมิปัญญาการทอผ้าและหัตถศิลป์ พื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ จากทุกภูมิภาค ของประเทศไทย ที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความรักและศรัทธา ในงานถักทอผืนผ้าแห่งภูมิปัญญาพื้นถิ่น ด้วยสมองและสองมือของช่างทอผ้า ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ลายเชิงช่อดอกรัก สื่อถึงความรักและกำลังใจที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแก่ ช่างทอผ้า ผู้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ้าบาติกลายพระราชทาน ลายที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล

ในการนี้ ถวิล ยี่สุ้นแสง พัฒนาการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี ได้จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 36 พรรษา และนิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุกตามพระดำริพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และโดยนิทรรศการผ้าลายดอกทองอุไร ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี และผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมของแต่ละอำเภอมาจัดแสดงร่วมด้วย เพื่อสร้างการรับรู้และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP/ผู้ผลิตชุมชน อย่างยั่งยืน

บุญเลิศ ผลอุดม  จ.สิงห์บุรี