เปลี่ยนขยะเป็นกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขยะ หนองแขม รักษ์โลก ต้นแบบโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม

คณะสื่อมวลชนโคราชศึกษาดูงาน โรงไฟฟ้าขยะ “หนองแขม” บริษัทซีแอนด์จีฯ มูลค่ากว่า 960 ล้าน สุดทึ่งกับเทคโนโลยีเอาขยะที่สกปรก มาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ต้นแบบโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 คณะสื่อมวลชนจาก จ.นครราชสีมา ได้รับการประสานงานจากผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปศึกษาดูงาน “โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม” ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร โดยมี นายนพดล พฤกษะวัน กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงาน บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

ประวัติความเป็นมาโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม สถานการณ์ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมูลฝอยจำนวนมากขึ้นทุกวัน เฉลี่ย 10,000 ตันต่อวัน โดยขยะมูลฝอยทั้งหมดจะนำไปฝังกลบในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยได้อย่างเพียงพอ เกิดปัญหาขยะล้นเมืองส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน

กรุงเทพมหานครจึงได้ริเริ่ม “โครงการกำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบของการกำจัดมูลฝอยพร้อมผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งสามารถแปรรูปมูลฝอยเป็นพลังงานกลับมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดปริมาณมูลฝอยที่จะต้องนำไปฝังกลบ และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับสัญญาจากกรุงเทพมหานคร ในรูปแบบของโครงการจ้างเหมาเอกชน ให้เข้ามาดำเนินโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็นผู้ลงทุนดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการ แบบ BOT (ก่อสร้าง-ดำเนินงาน-โอนสิทธิ์)

โดยมีสถานที่ตั้งโครงการ อยู่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม มีพื้นที่ประมาณ 63,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 39 ไร่ กำลังการกำจัดขยะ 300-500 ตันต่อวัน (ตามกำลังการผลิตของโครงการ) การผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 9.8 MW ระบบเตาเผาแบบตะกรับ(Von Roll Stoker Type) 250 ตัน 2 ชุด มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท ระยะดำเนินโครงการ 20 ปี ส่งมอบโรงงานในสภาพที่สมบูรณ์ให้กับกรุงเทพมหานคร

ระบบการทำงานของโรงโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม ทั้งหมดถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการ เริ่มต้นจากรถเก็บขยะนำขยะมาเทที่บ่อรับขยะ (ระบบปิด) 500 ตันต่อวัน เครนขนาดใหญ่ยักษ์ทำหน้าที่พลิกกลับขยะเพื่อลดความชื้นให้เหลือ 35% ใช้เวลา 3-5 วัน หลังจากลดความชื้น เครนจะคีบขยะ (คีบละ 4 ตัน) เข้าสู่เตาเผา การเผาใช้อุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส เพื่อการเผาไหม้ที่สมบูรณ์

เถ้าหนักและเถ้าเบาหลังการเผาไหม้ จะนำไปตรวจสอบและกำจัดตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (นำไปผลิตเป็นก้อนอิฐ) ขณะที่ความร้อนที่ได้จากการเผาขยะจะถูกนำไปต้มที่หม้อไอน้ำ เกิดไอน้ำแรงดันสูงป้อนเข้าสู่ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 9.8 เมกกะวัตต์ต่อวัน ปล่องสูง ๆ ของโรงงาน ทำหน้าที่ระบายไอร้อนหลังจากบำบัดคุณภาพอากาศแล้ว

การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ : มีระบบควบคุมไอเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ปลายปล่องระบายอากาศความสูง 80 เมตร ติดตั้งจอแสดงผลคุณภาพอากาศ ผ่านจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบ

เสียง : ติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียงไว้ที่เครื่องจักร เพื่อควบคุมเสียงดังจากกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ปลูกต้นไม้สูงบริเวณแนวรั้วโครงการ เพื่อเป็นแนวกั้นเสียง

น้ำเสีย : ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อรวบรวมและบำบัดให้มีคุณภาพ น้ำเสีย/น้ำทิ้ง ที่ผ่านการบำบัดแล้วจะนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการ จึงไม่มีการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

กากของเสีย : เถ้าหนัก จะนำไปตรวจสอบสารอันตรายก่อนนำไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ ซึ่งจะเหลือส่วนที่ต้องฝังกลบเพียง 25% ของปริมาณขยะ ส่วนเถ้าเบา ถูกดับจับด้วยผงถ่านกัมมันต์ และตกอยู่ในถุงกรองที่มีความละเอียดสูง และจัดส่งให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตนำไปกำจัดต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ คือ ลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัย อันมาจากมูลฝอยที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสม ใช้พื้นที่น้อย เมื่อเทียบกับวิธีการฝังกลบ และที่สำคัญสามารถตั้งอยู่ในตัวเมืองได้ และใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะ มาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม [Process] – YouTube
https://www.youtube.com/watch?v=9tlpfxdB9lY

ภาพ/ข่าว ประสิทธิ์ วนะชกิจ จ.นครราชสีมา