กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภาคตะวันออก หลังการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC

วันที่ 10 ส.ค.66 ที่โรงแรมเบย์บีช รีสอร์ท จอมเทียน จ.ชลบุรี นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ภาคตะวันออก เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT) โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช.ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566

พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามและ
ประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ กตป. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ 5.ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยมาตรา 72 ประกอบมาตรา 73 ของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังกล่าวกำหนดให้ กตป. มีอำนาจหน้าที่ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. และกสทช. จะต้องนำเสนอรายงานประจำปีของ กตป. ต่อรัฐสภาและ
เปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนรับทราบ

ซึ่งการติดตามตรวจสอบและประเมินผลตามนโยบายของ กสทช. ที่สำคัญด้านการคุ้มครอง
ผู้บริโภค ประจำปี 2566 นั้น กตป.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จึงให้ความสำคัญประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Centre) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน 2.การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (หรือ ที่เรียกว่า OTT) 3.เงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (หรือที่รู้จักในนาม ดีแทค) และ 4.การกำกับดูแลการโฆษณาแอบแฝงในกิจการโทรทัศน์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

โดย กตป. ได้ให้ความไว้วางใจและมอบหมายให้ “วิทยาลัยนวัตกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินผล และจัดทำ
รายงานการประเมินผลตามนโยบาย กสช. ที่สำคัญดังกล่าว ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearine) ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้บริโภคเกี่ยวกับเงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศการควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ใช้ชื่อเป็น “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน)

 

ซึ่งภายหลังควบรวมจะทำให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น มีฐานผู้ใช้บริการทั้งหมดรวมกันประมาณ 55 ล้านเลขหมายจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหมดราว 120 ล้านหมายเลข ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน เพราะลดจำนวนผู้ให้บริการหลักเหลือเพียง 2 ราย เนื่องจากผู้ใช้บริการของ NT นั้นมีเพียงประมาณ 3 ล้านเลขหมาย ขณะที่ผู้ใช้บริการของ.MVNO: Mobile Virtual Network Operators (หรือผู้ให้บริการเครื่อข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบการและโครงข่ายเป็นของตัวเอง) ทั้ง 8 รายรวมเป็นเพียง 4 หมื่นเลขหมาย

ดังนั้น กสทช. จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อที่จะลดความเสี่ยงอันเกิด จากการแข่งขันที่ลดลงซึ่งอาจจะสร้างผลเสียต่อตลาดโทรคมนาคมไทย ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม ที่ปรึกษาจึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้บริโภคในวันนี้ นอกจากการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ที่ปรึกษายังมีการเก็บรวมรวมข้อมูลโดยวิธีการอื่นอีกด้วย เช่น การสัมภาษณ์เชิงลึกและสัมภาษณ์กลุ่มกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การสนทนากลุ่มย่อย (หรือ focus group) การแจกแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ และหลังจากการเก็บรวมรวมข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิแล้ว ที่ปรึกษาจะสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลโดยหลักวิชาการเพื่อจัดทำเล่มรายงานประจำปีของกตป. เกี่ยวกับผลการประเมินการปฏิบัติงานของกสทช. เลขาธิการกสทช. และสำนักงานกสทช. ซึ่งตามพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้กสทช., จะต้องนำเสนอรายงานประจำปีของ กตป. ต่อรัฐสภาและเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ภาพ/ข่าว เก่ง ณ สงขลา ผู้สื่อข่าว ประจำ จ.ชลบุรี