กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับจังหวัดจันทบุรีจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 ส่งเสริมพัฒนาสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก ตอกย้ำการเป็น “นครอัญมณีโลก”ฉลอง 4 ปีแห่งความสำเร็จ งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี

วันที่ ( 7 ธ.ค.66 ) ที่ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 โดยนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีนำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสมาคมอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนผู้ประกอบการอัญมณี เครื่องประดับ และพลอยก้อน รวมทั้งผู้แทนสมาคม องค์กรที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและเยี่ยมชมงานซึ่งช่วงพิธีเปิดมีการแสดงเดินแบบแฟชั่นโชว์อัญมณีและเครื่องประดับโดยนางแบบกิติมศักดิ์ การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดต่อเนื่องปีที่ 4 ตอกย้ำการเป็น “นครอัญมณีโลก” ผลักดันและสนับสนุนให้จังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณีศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลกตามแนวคิด Chanthaburi City of Gems

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และ จังหวัดจันทบุรี เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็น “นครอัญมณี” เป็นหมุดหมายสำคัญของนักสะสม ผู้ค้า ผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก โดยได้จัดงาน ณ บริเวณศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี อาคารเคพีจิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และตลาดพลอยถนนศรีจันทร์ เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งพลอยก้อน และพลอยเจียระไน ที่สำคัญ ด้วยฝีมือและความสามารถในการตั้งน้ำ การเจียระไน รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 และได้การตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการทั่วโลกที่ตบเท้าเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งเป็นตลาดการค้าพลอยสีที่สำคัญของไทยจะเห็นได้ว่า อัญมณีและเครื่องประดับ นับได้ว่าเป็น สินค้าส่งออกหลักที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคการส่งออก และ การใช้จ่ายในประเทศ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 6 ของจีดีพี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นแห่ง (ไม่รวมภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการรายเดียว) มีการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชนได้เกือบเจ็ดแสนคน ทั้งคนคัดพลอย ช่างเจียระไนอัญมณี ช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับ ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ บรรจุภัณฑ์ ประกันภัย โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น
นายนภินทร กล่าวเสริมว่า การจัดงานครั้งนี้ นอกจากเป็นเวทีการค้าที่สำคัญ ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ที่กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการตามนโยบายในการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” โดยงานครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ที่รักอัญมณี และเครื่องประดับ ผู้บริโภคทั่วไป ได้มีโอกาสได้เลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพในราคาจากผู้ผลิตโดยตรง ผู้ประกอบการและผู้ผลิตมีโอกาสในการเพิ่มรายได้ในช่วงที่มีการจัดงาน และขยายโอกาสในการทำธุรกิจในระยะยาวกับประเทศคู่ค้า เป็นการขยายโอกาสช่องทางในเชิงพาณิชย์ สร้างพลังให้กับผู้ประกอบการสี ซึ่งคาดว่าตลอดระยะเวลาที่จัดงาน จะสร้างความคึกคักในด้านรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่จัดแสดงสินค้าภายในงาน และผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวก็จะได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ผู้ประกอบการด้านโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นการช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปลายปี และยังกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดจันทบุรีอีกทางหนึ่ง เบื้องต้นคาดการณ์การจัดงานครั้งนี้จะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้กว่า 100 ล้านบาท

ด้านนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT กล่าวเสริมว่า การจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 ธันวาคม 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเพื่อต้อนรับปีใหม่ ภายในงานพบกับมหกรรมจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับคุณภาพดี จากผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติกว่า 300 ร้านค้า ในราคาสุดพิเศษ พร้อมทั้งจุดประกายการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับในจังหวัดจันทบุรี ผ่านกิจกรรม Gems Tour ที่จะพาเที่ยวชมเหมืองพลอยและสถานที่สำคัญของจันทบุรี และการสัมมนาสร้างองค์ความรู้ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการตลาดของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับให้กับผู้ที่สนใจซึ่งเป็นการขยายโอกาสช่องทางในเชิงพาณิชย์ อาทิ งานสัมมนาด้านการตลาดการค้าออนไลน์ การจัดสัมมนาด้านอัญมณีและเครื่องประดับ กิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ มากมายโดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม การจับคู่ธุรกิจภายใต้โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (BWC Business Matching) บริการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับเคลื่อนที่ (Mobile Lab) เพื่อให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพ ภายใต้โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence) รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับรางวัล GIT’s World Jewelry Design Awards 2023 นิทรรศการในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการในภูมิภาค Gems Treasure กับผลงานชุด “เสน่ห์ใต้” รวมถึงนิทรรศการเครื่องประดับจากผู้ประกอบการจันทบุรี และยังมีกิจกรรมให้ผู้รักอัญมณีได้ร่วมสนุกอีกมากมาย ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมงานได้จนถึงวันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2566 ทั้ง 3 จุดที่จัดงาน คือศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี/ อาคารเคพีจิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และตลาดพลอยถนนศรีจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.

 

 

สมเศียร โชติสนิท ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดจันทบุรี