ม.การกีฬาแห่งชาติ เปิดศูนย์ทดสอบมาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทย เป็นแห่งแรก ที่ได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ภาคความสามารถ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคาร ม.กีฬา 1 มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขต ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวิษณุ ไล่ชะพิษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ภาคความสามารถ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษ กับ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ ซึ่ง นายชัยรัตน์ ฉัตรศุภกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษ ได้มอบใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ให้กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ มีการแสดงไหว้ครูมวย การแสดงนาฏยุทธ์มวยไทย จาก ร.ร.เครือข่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ร.ร.ขุขันธ์ ซึ่งสามารถแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทยได้อย่างดีเยี่ยม มีการเยี่ยมชมห้องศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยมี ผศ. ดร.วัชรินทร์ ขี่ทอง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ประจำวิทยาเขตศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี ดร.ฤทธา นันทพันธ์ อดีตศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางวาสิตา น้อยพรหม นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวศรีสะเกษ นายสฤษดิ์ นาควารินทร์ รองประธานบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีศรีสะเกษ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด คณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สมาชิกชมรมมวยไทยสมัครเล่นจังหวัดศรีสะเกษและมวยไทยอาชีพจังหวัดศรีสะเกษ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน น.ศ.มาร่วมพิธีเปิดครั้งนี้จำนวนมาก

 

 

 

 

 

ผศ.ดร.วัชรินทร์ ขี่ทอง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ประจำวิทยาเขตศรีสะเกษ กล่าวว่า ศิลปะมวยไทย ปัจจุบันได้รับความนิยม และมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและซาวต่างชาติ ทำให้มวยไทยมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อีกทั้งมวยไทยยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย และยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้อาชีพมวยไทย เป็นที่นิยมเพิ่มมากยิ่งขึ้น กระทรวงแรงงาน จึงมีนโยบายผลักดันมวยไทยให้เป็น soft Power ของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ และแผนพัฒนามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ พ.ศ. 2566 – 2570 ประเด็นการพัฒนาที่ 4 การทะนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ตัวชี้วัดที่ 3กิจกรรมด้านการละเล่นพื้นบ้านและกีฬาไทยที่ส่งเสริม Soft Power ของไทย และในขณะนี้มีหน่วยงานและสถานฝึกมวยไทย ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยแล้ว จำนวน 8 แห่ง โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ภาคความสามารถ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยระดับ 1 มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษ กับ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ ทำให้ศูนย์แห่งนี้มีความพร้อมสำหรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้กับภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับมาตรฐานของมวยไทยให้เป็นที่ยอมรับต่อไป

 

 

นายวิษณุ ไล่ชะพิษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ภาคความสามารถ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะช่วยผลักดันนโยบายของกระทรวงแรงงาน สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ และแผนพัฒนามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ พ.ศ. 2566 – 2570 ประเด็นพัฒนาที่ ๔ การทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมให้มวยไทยเป็น Soft Power ของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ ถือว่าเป็นแห่งแรกของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่ได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ภาคความสามารถ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ขึ้นมา

 

 

 

 

นายสมนึก สังข์ขาว นายกเทศมนตรีตำบลจานแสนไชย ในฐานะประธานชมรมมวยไทยสมัครเล่นจังหวัดศรีสะเกษและมวยไทยอาชีพจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนอยู่ในวงการมวยเราเห็นว่า การเปิดศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยแห่งนี้จะเป็นผลดีต่อนักมวยอย่างมหาศาล ซึ่งเมื่อก่อนนี้ใครๆก็มองเห็นว่าการชกมวยเป็นเรื่องเลื่อนลอยหาจุดยืนไม่ได้ แต่ว่าขณะนี้แม้แต่ผู้ฝึกสอนมวยไทยก็มีมาตรฐานมากขึ้น เทรนเน่อร์ก็มีมาตรฐาน จะทำให้วงการมวยไทยของเราฟื้นตัวขึ้นมาอย่างมีระบบและตนเชื่อมั่นว่านักมวยที่อยู่ตามชนบทต่างๆก็จะให้ความเชื่อมั่นเพราะเกิดมีครูฝึกสอนมวยไทยที่เป็นมาตรฐานรวมทั้งวิทยาศาสตร์การกีฬาต่างๆก็จะเป็นการผลักดันให้การป้องกันตัวต่างๆการเรียนรู้ทักษะต่างๆจะเต็มไปด้วยวิชาการที่สามารถเป็นไปตามกฎการเรียนรู้ทางกีฬามวยไทยได้ เพราะฉะนั้นในวันนี้เราเห็นแล้วว่าการเปิดศูนย์แห่งนี้ตนเชื่อว่าน้อง ๆนักมวยในจังหวัดศรีสะเกษค่ายมวยหรือผู้จัดการค่ายมวยต่างๆก็จะสามารถส่งให้นักมวยเข้ามาเรียนรู้ศึกษา และสามารถที่จะไปขยายผลในกิจการธุรกิจของวงการมวยไทยได้เป็นอย่างดี.

 

 

 

 

 

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ