ปทุมธานี ชาวลาดหลุมแก้วร่วมปลูกต้นกล้วยริมคลองสาธารณะเพิ่มพื้นทีสีเขียวเป็นแหล่งอาหารให้ ปชช.

 เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณริมคลองลากค้อน หมู่ที่ 10 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ภายใต้การอำนวยการของนายณรงค์ศักดิ์  โอสถธนากร  ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นำโดย นางรัฐยา  อาจหาญ  เผยพร นายอำเภอ ลาดหลุมแก้ว พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ของอำเภอลาดหลุมแก้ว ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยในที่สาธารณะ บริเวณริมคลองลากค้อน ระยะทาง 2 กิโลเมตร เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้มนุษย์และสัตว์ 

สำหรับกิจกรรมปลูกต้นกล้วย กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง  กล้วยหอมทอง จำนวน 200 ต้น เป็นการเพิ่มพื้นทีสีเขียวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างอาชีพและรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตคุณในชุมชนอย่างยั่งยืน มีข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสาในโครงการจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ มาร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน และร่วมเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 2566 ประชาชนใกล้เคียงสามารถช่วยดูแล และหากมีผลออกมา สามารถเก็บรับประทานได้ฟรี 

 

   

  ด้าน นางรัฐยา อาจหาญ เผยพร นายอำเภอลาดหลุมแก้ว กล่าวว่า การทำกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ มุ่งมั่นน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ “พึ่งพาตนเอง” และถือว่าการปลูกต้นกล้วยในพื้นที่สาธารณะครั้งนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ได้นำแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ผ่านนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทาง “หนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) รวมถึงพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สอดคล้องกับแนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” ซึ่งการเลือกปลูกต้นกล้วยถือว่ามีประโยชน์มากมายมหาศาล สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น ใบ และผล โดยต้นกล้วยสามารถช่วยป้องกันตลิ่ง การกัดเซาะของหน้าดิน ผลที่ได้มีทั้งหัวปลี หวีกล้วย หยวกกล้วยที่ประชาชนสามารถบริโภคได้ทั้งหมด จนสามารถเผื่อแผ่ให้สัตว์ต่างๆ ได้บริโภค รวมถึงใบตองสามารถนำมาห่ออาหาร และทำประโยชน์ต่างๆ ได้นานัปประการ การทำกิจกรรมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชน ประชาชนมีสุข สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ และเป็นต้นแบบให้กับตำบล หมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ได้สืบต่อไป