จังหวัดนครราชสีมา เร่งแก้ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กนักเรียน หลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเด็กนักเรียนในพื้นที่ปลิดชีพตัวเองไปแล้ว 5 ราย

วันนี้ (26 มีนาคม 2568) เวลา 09.30 น. ที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตนักเรียน เพื่อการดำเนินงานตามนโยบายโรงเรียนสร้างสุข จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 คณะครูจากโรงเรียนอุดมศึกษาทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประชุม

 

 

 

 

โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตนักเรียน จังหวัดนครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นโครงการภายใต้การกำกับติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสุขภาพจิต จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิต ในมิติส่งเสริมสุขภาพจิต และการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยเรียนวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยปัญหาการพยายามฆ่าตัวตาย และการทำร้ายตนเองในเด็กนักเรียน มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2567 มีข้อมูลว่า มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย และทำร้ายตนเอง อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 15- 19 ปี ที่จัดอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น และนักศึกษา มีอัตราการพยายามฆ่าตัวตาย และทำร้ายตนเอง 65.58 ต่อ 100,000 ประชากร จังหวัดนครราชสีมาจึงได้มีนโยบายจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตในวัยเรียนวัยรุ่น และลดอัตราการฆ่าตัวตาย และทำร้ายตัวเอง

 

 

การดำเนินโครงการในระยะแรก มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสุรนารีวิทยา โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โรงเรียนบุญวัฒนา โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย โรงเรียนสุรนารี 2 และโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวนำแนวทาง 4 pillars มาใช้ยกระดับเชิงระบบในการส่งเสริมป้องกัน สร้างสุขทางใจนักเรียน ประกอบด้วย กิจกรรมการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ และทักษะของครู และแกนนำนักเรียนในการเฝ้าระวังดูแลปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน, การพัฒนาระบบคัดกรอง และเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต, การพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตเชิงรุกในโรงเรียน และการจัดทำแผนเผชิญความเสี่ยงต่อเหตุการณ์พยายามฆ่าตัวตาย และทำร้ายตนเองในโรงเรียน

 

 

 

 

ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมาต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมที่เกิดจากนักเรียนกระโดดอาคารเรียนเสียชีวิตถึง 5 ราย เหตุการณ์เริ่มต้นโดยในปี 2565 เด็กนักเรียนชั้น ม.2 และ ม.6 ของโรงเรียนสุรนารีวิทยา และโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กระโดดอาคารเรียนเสียชีวิต และในปีเดียวกัน นักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียนบุญวัฒนา ก็เสียชีวิตในลักษณะเดียวกัน ต่อมาปี 2567 มีนักเรียนชั้น ม.6 ของโรงเรียนบุญวัฒนา ก็ประสบเหตุอีกครั้ง และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นักเรียนหญิงชั้น ม.3 โรงเรียนสุรนารีวิทยา ก็เสียชีวิตจากการกระโดดตึกอาคารเรียน